วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประกันชีวิต ยาสารพัดนึกของการออม

ประกันชีวิต ยาสารพัดนึกของการออม

เหตุผลว่าทำไมการทำประกันชีวิต จึงเป็นช่องทางการออมที่ทรงประสิทธิภาพและไม่เหมือนใคร

1.เติบโตสม่ำเสมอ ทบทวีคูณทุกปี การทำประกันชีวิตต้องจ่ายเบี้ยทุกปีในจำนวนที่เท่ากันจนกว่าจะครบสัญญา ทำให้ยอดเงินออมเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ ซึ่งต่างจากการออมในรูปของเงินฝากธนาคาร หุ้น หรือกองทุนรวมที่อาจจะขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะของตลาด

2.เป็น แหล่งเงินทุนระยะยาว สัญญาประกันชีวิตส่วนใหญ่จะมีระยะเวลา 20 ปีขึ้นไป ทำให้บริษัทประกันชีวิต สามารถนำเงินไปลงทุนระยะยาวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย บริษัทประกันชีวิตเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ในสัดส่วนสูงสุด
   
3.ลดปัญหาขาด ดุลบัญชีเงินสะพัด ในภาวะที่รัฐบาลกำลังเร่งลงทุน โครงการเมกะโปรเจ็ก แต่รัฐบาลมีเงินทุนไม่เพียงพอ หากเงินออมในประเทศมีน้อย ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจสูงถึง 4.5% ของ GDP ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศได้

 4.รองรับปัญหาคนสูงอายุในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า เมืองไทยจะมีคนชราที่อายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 18% หากรัฐไม่สนับสนุนให้ผู้มีเงินได้รู้จักเก็บออมด้วยตนเองแล้ว มั่นใจได้เลยว่าหน่วยงานของรัฐจะไม่มีศักยภาพพอ ที่จะจุนเจือผู้สูงอายุเหล่านี้ได้

5.เป็นทางออกของผู้ไม่ ชอบความเสี่ยง คนทั่วไปมักเข็ดหลาบกับการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม ภาพของลุงบุญช่วย ที่ลงทุนโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ยังคงฝังอยู่ในความรู้สึกของคนไทย หลายคนก็เพิ่งขาดทุนมหาศาลกับการลงทุนหุ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาจึงมองหาการเก็บออมในช่องทางที่เปิดโอกาสให้ออมได้สม่ำเสมอ แต่ไม่มีความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ  ซึ่งการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ จะเข้ามารองรับคนเหล่านี้ได้

6.รอง รับปัญหาดอกเบี้ยระยะยาวดิ่ง ปัญหาดอกเบี้ยระยะยาวกำลังเป็นเรื่องปวดหัวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ดอกเบี้ยระยะสั้น 1-5 ปี กำลังปรับตัวสูงขึ้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปกลับลดลง

           ลองนึกภาพดูว่า อีก 20 ปีข้างหน้า พนักงานบริษัทคนหนึ่งเกษียณอายุโดยมีเงินออมอยู่ที่ 5 ล้านบาท
แต่ตอน นั้นดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 0.039% พันธบัตร 10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.216% อะไรจะเกิดขึ้น โปรดอย่าปฏิเสธว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงที่ประเทศญี่ปุ่นเวลานี้

          แต่โชคดีที่เรายังมีกรมธรรม์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "แบบเงินได้ประจำ" ซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไปตลอดชีวิต ผู้เอาประกันเพียงแต่จ่ายเบี้ยประกันไประยะเวลาหนึ่ง เช่น 20 ปี จากนั้นก็รับเงินบำนาญในอัตราดอกเบี้ยคงที่ เช่น 5% ไปตลอดชีวิต ช่องทางการออมนี้จะเป็นหลักประกันที่แน่นอนสำหรับคนเกษียณอายุ ที่ไม่มีสถาบันการเงินไหนทำได้ ซึ่งในอเมริกานิยมทำกันมาหลายทศวรรษแล้ว

7.ช่วยลดภาระรัฐบาลและสังคม หลักการสำคัญประการหนึ่งของประกันชีวิตคือ การกระจายความเสี่ยง หากผู้เอาประกันเกิดเหตุเภทภัย เจ็บป่วย อุบัติเหตุ พิการ หรือเสียชีวิต เงินสินไหมที่ได้ย่อมช่วยผ่อนเบาภาระของผู้เอาประกัน และครอบครัว ไม่ให้กลายไปเป็นภาระของรัฐและสังคมรอบข้างได้

8.พัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม ทุกวันนี้ เงินออมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ธนาคาร ซึ่งเป็นเงินทุนระยะสั้นให้ผลตอบแทนต่ำ ทำอย่างไรจึงจะให้เงินออมของประชาชนได้กระจายไปออมในแหล่งทุนระยะยาวมากขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศชาติมากกว่านี้

          จะเห็นว่า หากรัฐส่งเสริมให้ประชาชนออมในรูปของกรมธรรม์ประกันชีวิต ผลที่เกิดขึ้นเหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว แต่รัฐควรใจกว้างให้การสนับสนุน ด้วยการลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจด้วย

         มีชนชั้นกลางมากมายที่มีรายได้เดือนละ 50,000 บาทขึ้นไป แต่จากการวิจัยพบว่า คนเหล่านี้ แม้จะมีเงินออมอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคมก็ตาม แต่เมื่อถึงยามเกษียณอายุ คนเหล่านี้จะมีรายได้เพียง 13% ของเงินเดือนที่เคยได้รับ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

         หากต้องการให้เพียงพอ ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50% ของเงินเดือนสุดท้าย ซึ่งจากการคำนวณพบว่า เขาต้องมีเงินเก็บไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ถ้าใช้เวลา 20 ปี เขาต้องเก็บเงินถึงปีละ 200,000 บาท จึงจะได้ยอดเงินตามเป้าหมาย (เมื่อรวมดอกผลแล้ว)

          สำหรับคนที่ไม่ชอบเสี่ยง ไม่ชอบลงทุนในหุ้น หรือในตราสารหนี้ที่เขาไม่คุ้นเคย เขายังมีทางเลือกที่จะออมเงินผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ถ้ารัฐมีมาตรการสนับสนุนที่ดีพอ เชื่อว่าจะมีคนสนใจออมเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และจะทบต้นเข้าไปทุกปีจนครบสัญญา

         เพียงแต่รัฐบาลเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตให้เป็น 200,000 บาทต่อปี สำหรับกรมธรรม์ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป (เมื่อเทียบกับกองทุนหุ้นระยะยาวที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 300,000 บาท และลงทุนเพียง 5 ปีปฏิทินเท่านั้น) เชื่อว่า จะมีผู้ที่พร้อมจะออมเพิ่มขึ้นทันทีนับแสนคน โดยรัฐจะสามารถเก็บภาษีจากธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นมาชดเชยภาษีที่หายไปได้ในที่ สุด หาไม่แล้ว รัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชนว่า "ทำไม คนที่นิยมความมั่นคง ไม่ชอบความเสี่ยง ห่วงใยในครอบครัว จึงไม่ได้รับสิทธิภาษีเหมือนคนที่กล้าเสี่ยงลงทุนในหุ้น ที่ใช้เวลาลงทุนเพียง 3 ปีกับอีกไม่กี่วันเท่านั้น"

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก คุณบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ

เก็บเงินให้รวย

เก็บเงินให้รวย - ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร

"หาได้มากน้อยเท่าไหร่ไม่สำคัญ จ่ายมากน้อยเท่าไหร่เป็นเรื่องสำคัญกว่า คือต้องใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้ "

1. การเพิ่มรายได้ ควรหลีกเลี่ยงการเป็นมนุษย์เงินเดือน เพราะเป็นผู้ประกอบการจะรวยเร็วกว่า และเชื่อว่าคนที่ทำงานเก่งสำคัญกว่าคนที่เรียนเก่ง แต่ไม่ได้สนับสนุนให้ทิ้งการเรียน ควรมีการ เรียนรู้ต่อเนื่อง

2. สอนลูกให้เป็นผู้ประกอบการ โดยสอนให้มีพื้นฐานและประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่เด็กๆ และหากเป็นไปได้ก็ควรสนับสนุนในส่วนของทุนที่จะใช้ในการประกอบการด้วย

3. เคล็ดลับการออมเงิน
- หาได้มากน้อยเท่าไหร่ไม่สำคัญ จ่ายมากน้อยเท่าไหร่เป็นเรื่องสำคัญกว่า คือต้องใช้ให้น้อยกว่า ที่หาได้
- ควบคุมรายจ่ายถ้าอยากเก็บเงิน เมื่อได้เงินมาให้รีบแบ่งเก็บในธนาคารเพราะถ้า รอใช้ก่อนจะไม่เหลือเก็บ
- ไม่ต้องทำตามผู้อื่น ต้องมีเอกเทศของตัวเอง เราอยู่ในสังคมต้องเป็นไปตามสังคม แต่เราไม่จำเป็นต้องทำตามคนอื่นเสมอไป
- การเล่าเรียนของบุตร ควรวางแผนด้านการเรียนของบุตรโดยเน้นการศึกษาเล่าเรียนในประเทศ เพราะการศึกษาในประเทศไทยก็จัดอยู่ในระดับมาตรฐานและค่าใช้จ่ายในการเรียน ไม่สูงมาก
- ต้องระวังรักษาสุขภาพของตนให้แข็งแรง และไม่ควรทำประกันภัยหรือประกันชีวิตจนเกินสมควร
- ระวังเรื่องค้ำประกัน และการให้กู้ยืม เพราะ "การให้เพื่อนยืมเงิน ท่านจะเสียเงิน เสียเพื่อนและในที่สุดก็เสียใจ"

4. บริหารเงินออมของครอบครัวและวางแผนภาษี
- การสร้างฐานะของครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นควรยึดหลักการ "ผัวเดียวเมียเดียว" และสามีภรรยาต้องช่วยกันออมทรัพย์
- การบริหารเงินของครอบครัว จะต้องรู้ว่าคุณมีทรัพย์สมบัติอะไรบ้างที่เป็นสินเดิม หรือเป็นสินสมรสเพื่อจะได้จัดการให้เกิดประโยชน์งอกเงย และใช้จ่ายร่วมกันได้
- การบริหารเงินออมจะต้องดูแลการหมุนเวียนของเงินสดให้มีสภาพคล่อง ไม่ทำประกันชีวิตมากเกินไป และลงทุนอย่างชาญฉลาดโดยการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มดอกผล จากเงินออม

5. การประหยัดภาษี ควรพิจารณาว่าจะสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ปลอดภาษี เช่นหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลดผลกระทบจากการเสียภาษีได้หรือไม่

6. มาลดภาษีกับกองทุน RMF (Retirement Mutual Fund)
การลงทุนใน RMF สำหรับคนกินเงินเดือนนับเป็นช่องทางที่ช่วยลดภาษีได้มากที่สุด โดยควรเลือกกองทุน RMF แบบที่เหมาะกับเงินลงทุนและช่วงอายุในการลงทุนของคุณ นอกจากนี้ ยังควรวางแผนเรื่องภาษีเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตามเงื่อนไขของกฎหมาย

7. รวบรวมทรัพย์สิน โดยจัดแยกสินสมรสและสินส่วนตัว จัดสมบัติให้ดูแลง่าย จัดการเรื่องทายาท มรดก และพินัยกรรม ที่สำคัญคือควรให้เมียรู้ทรัพย์สินทั้งหมด แต่อย่าตามใจเมียทุกเรื่อง

8. สอนลูกให้รวยน้ำใจ ด้วยการใกล้ชิดและให้ความอบอุ่นแก่ลูก พร้อมทั้งชี้แนะและในเวลาเดียวกันก็ควบคุมดูแลให้ไม่ออกนอกลู่นอกทาง

9. ภาษีการเงินสำหรับ "วัยรุ่น" - การวางแผนด้านภาษี เด็กๆ อาจให้ประโยชน์ทางภาษีแก่คุณได้เพราะเขาส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ ทำให้อยู่ในกลุ่มผู้เสียภาษีต่ำที่สุด ดังนั้น หากคุณย้ายรายได้ส่วนหนึ่งไปให้กับตัวเด็ก คุณจะประหยัดภาษีเงินได้ลงได้
- ความรับผิดชอบต่อภาษี สำหรับวัยรุ่นที่มีรายได้ก้อนโต จะต้องหาที่ปรึกษาในการวางแผนภาษี การลงทุนและการออมทรัพย์ เพื่อเป็นการไม่ประมาท
- คำแนะนำทางการเงิน บทเรียนที่ดีสำหรับ วัยรุ่นคือแสดงให้พวกเขาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการตัดสินใจทางการเงินของ ตัวเอง ข้อสำคัญคืออย่าปรนเปรอเด็กด้วยเงินและอย่าให้บัตรเครดิต

10. ข้อสรุปการสอนลูก
- สิ่งที่ห้ามลูกทำ คือ การยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและการพนัน
- สิ่งที่ลูกต้องทำ คือ รอบรู้วิชา ซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันขันแข็ง และความโอบอ้อมอารี
- สิ่งที่ลูกควรรู้ ควรทำ คือ ต้องช่วยเหลือตัวเองและสามารถทำงานเป็นทีม รู้จักเก็บออมเงินและมีเมตตาสงสาร และที่สำคัญคือการมีระเบียบวินัย

11. จัดการมรดกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนะนำให้ทำพินัยกรรมด้วยตนเอง และควรต้องตรวจสอบดูแลเป็นระยะๆ (อาจจะทุก 5 ปี)

12. แม่บ้าน
- มีเมียดีเป็นศรีแก่เรือน
- คุณสมบัติและรูปสมบัติของภรรยาที่พึงมี ได้แก่ การเป็นคนมีจิตใจงาม มีการศึกษาพอสมควร เป็นเพื่อนคู่คิด รู้จักดูแลสุขภาพ ร่างกายของตนเองให้แข็งแรงและกระฉับ-กระเฉงอยู่เสมอ และมีความรับผิดชอบในเรื่องทรัพย์สมบัติ
- แม่มักจะเป็นผู้สอนลูกเพราะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่า

13. การหารายได้
- รู้จักประมาณตน คือประหยัด ไม่ใช้จ่ายเกินรายได้ที่ได้รับ
- ระวังหนี้สินและการค้ำประกัน
- ให้ลูกเมียร่วมตัดสินใจในเรื่องเงินทองของครอบครัว

14. ค่าใช้จ่าย
- หนี้สินและบัตรเครดิต (การบริหารเงินกู้) ควรมีความรู้เรื่องการบริหารหนี้เพื่อลดภาระ ต่อไปจะได้เป็นไทแก่ตัว
- ประกันภัย-ประกันชีวิต ควรพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ ก่อนตัดสินใจ
- ควรทำงบการเงินของครอบครัวเพื่อจะได้รู้สถานะทางการเงินของครอบครัวได้ ชัดเจน

15. ช่วยกันออมและลงทุน
- ชายหญิง ใครใช้เงินเก่งกว่ากันและใครออมเงินเก่งกว่ากัน หากใครเก็บเงินหรือคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่ากันก็ให้เป็นผู้นำในการดูแลเงิน
- เริ่มต้นออมก่อนก็จะรวยกว่า
- ผัวเมียแยกกันลงทุนดีไหม ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นกับความเหมาะสม
- ทรัพย์สินที่น่าลงทุนต้องดูตามแต่สถานการณ์
- ต้องช่วยกันเตือนสติ เข้าตำรา "สองหัวดีกว่า หัวเดียว"

16. ลงทุนให้ได้ดอกผลงาม
- บ้านและที่อยู่อาศัยถือเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด
- เงินทองเป็นของมีค่าและซื้อเพชรให้ภรรยา เพราะเพชรและทองเป็นทรัพย์สินที่คล้ายกับบ้านคือได้ใช้ประโยชน์ ได้สวมใส่ ดูแล้วอิ่มอกอิ่มใจ และถือเป็นเงินออมประเภทหนึ่ง
- หุ้นกับเงินฝากธนาคารควรดูแลและปรับเปลี่ยนการลงทุนตามสภาวการณ์ตลาด
- ซื้อทรัพย์สินอื่น เช่น การสะสมของมีค่าต่างๆ แต่ควรเป็นของที่มีตลาดซื้อขายที่กว้าง และไม่ใช่ของผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม
- มีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง
- อย่าลืมสร้างบุญกุศล เพราะคนเราจะเจริญมาได้ ก็ต้องเป็นคนดี ช่วยเหลือผู้อื่น

17. จัดรูปแบบภาษีของครอบครัว
- เรื่องภาษีจะต้องรู้ เพราะเมื่อกฎหมายทุกฉบับพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่าคนไทยทุกคนต้องรู้ จะแก้ตัวว่าไม่รู้เลยไม่เสียภาษีไม่ได้
- เมียก็ช่วยลดภาษีได้ในกรณีที่มีรายได้ของตนเอง และขอแยกเสียภาษี
- ควรตั้งบริษัทเพื่อลดภาษีหรือไม่นั้น ขึ้นกับความเหมาะสมและประเภทธุรกิจ

18. แผนการเงินของคนโสด
- หาเองใช้เองประหยัดกว่าก็น่าจะจริง แต่ในบางกรณีการมีคนช่วยหารายได้ให้เป็นทวีคูณก็น่าจะเป็นการดี
- เพื่อนคู่คิดสำหรับคนโสด อาจเป็นเพื่อนสนิท หรือญาติพี่น้อง
- การคำนวณว่าต้องมีเงินออมเท่าใดจึงพอเพียง ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายของคุณ
- แก่ลงใครจะดูแล ขึ้นกับว่า "เราทำอย่างไร กับผู้อื่น เขาก็ทำกับเราอย่างนั้น" หากเราทำดีกับใคร เขาย่อมตอบแทน

19. บั้นปลายของชีวิต
- หากต้องการให้แก่แล้วมีกิน จะต้องเก็บออมตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี รู้จักควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า รายได้
- วิเคราะห์ความมั่งมีเพื่อความไม่ประมาท
- บุญกุศลช่วยท่านได้

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ประธานชมรมคนออมเงิน www.saverclub.org