วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประกันชีวิต เป็นสิ่งจำเป็น...จริงหรือ

หนึ่งในคำถามทางการเงินยอดฮิตที่ผมมักถูกถามอยู่ เสมอก็คือ “คนเราทุกคนต้องทำประกันชีวิตหรือไม่” และ “ควรทำประกันไว้เท่าไหร่ถึงจะดี”

วันนี้ Financial Literacy เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ

ทุกครั้งที่นึกถึง “การประกัน” คำหนึ่งที่เรามักได้ยินควบคู่กันอยู่เสมอก็คือคำว่า “ความเสี่ยง” หรือ Risk ซึ่งหมายถึง ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลกระทบ (ทางลบ) ต่อสถานะทางการเงินและสภาวะทางอารมณ์ของผู้ที่ได้รับเหตุการณ์ที่เป็นภัย นั้น เขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์ง่ายๆ ได้ดังนี้

ความเสี่ยง (Risk) = โอกาสในการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นภัย (Likelihood) x ความรุนแรงของผลกระทบ (Severity)

พูดให้ง่ายเข้าก็คือ การพิจารณาเรื่องของ “ความเสี่ยง” นั้น ต้องมองประกอบกันในสองมิติ นั่นคือ มิติด้านโอกาสในการเกิดภัยหรืออันตรายนั้น และอีกมิติก็คือ ความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดจากภัยนั้นๆ

ดังนั้น หากเราจะพิจารณากันในเรื่องของประกันชีวิต ก็ควรพิจารณากันในสองมิติสำคัญ นั่นคือ

1) โอกาสในการเสียชีวิต ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก เพศ อาชีพ การใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว รวมไปถึงลักษณะนิสัย เช่น การทานอาหาร การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การออกกำลังกาย ฯลฯ ของบุคคลนั้นๆ

อย่างเช่น บุคคลที่ทำอาชีพวิศวกรคุมงานก่อสร้าง ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าพนักงานออฟฟิศ หรือคนที่ดื่มสุราเป็นประจำก็มีโอกาสเสียชีวิต (อายุสั้น) มากกว่าคนที่ไม่ดื่ม เป็นต้น

2) ความรุนแรงของผลกระทบ กรณีเสียชีวิต โดยให้พิจารณาว่า หากบุคคลนั้นเสียชีวิตลง หรือแม้แต่ทุพลภาพไป จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของครอบครัว และบุคคลที่อยู่ข้างหลังอย่างไรบ้าง ถ้าหากการจากไปของเขาส่งผลกระทบให้ครอบครัว หรือคนข้างหลังต้องแบกภาระหนี้สินต่อ หรือขาดสภาพคล่องในการดำเนินชีวิต อย่างนี้ก็ถือว่ามีความรุนแรงและผลกระทบในระดับสูง

เรามาดูตัวอย่างกันสักนิดนะครับ

สมมตินายเอ เป็นลูกคนเดียว พ่อแม่มีอาชีพรับราชการใกล้เกษียณ ส่วนตัวเองเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำงานในกรุงเทพ รักการดื่มเป็นชีวิตจิตใจ แถมยังติดบุหรี่ชนิดงอมแงม เลิกไม่ได้ ว่างไม่ได้ เป็นต้องหาที่สูบบุหรี่เพื่อหย่อนใจ ไม่มีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ พักอาศัยโดยการเช่าอพาร์ทเมนท์อยู่ และไม่มีภาระหนี้สินใดๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถยนต์

ในกรณีนี้ จะถือได้ว่านายเอ มีโอกาสในการเสียชีวิตที่ “สูง” อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ติดทั้งบุหรี่และสุรา แต่เมื่อมองพิจารณากันที่ผลกระทบของการเสียชีวิตแล้ว พบว่าอยู่ในระดับที่ “ต่ำ” เพราะไม่มีภาระใดที่ต้องกังวล

เมื่อทราบดังนี้แล้ว นายเอ ควรจัดการกับความเสี่ยงของตัวเองอย่างไร?

ในส่วนของโอกาสในการเสียชีวิตนั้น นายเอควรบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวด้วยวิธีการ หลีกเลี่ยง หรือลดและควบคุมความเสี่ยง โดยการลด ละ เลิก พฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ พูดให้ง่ายเข้า คือ มองหาวิธีการลด “โอกาส” ที่จะทำให้ตัวเองเสียชีวิตลงเสีย หรืออาจมองไปที่การโอนความเสี่ยงโดยการทำประกันสุขภาพไว้ ก็ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงที่มีความเหมาะสม

ในส่วนของความรุนแรงของผลกระทบ พบว่า หากนายเอเสียชีวิต ก็ไม่ได้ทำให้ครอบครัวหรือคนที่อยู่ข้างหลังได้รับผลกระทบ อย่างนี้ก็ถือได้ว่า ประกันชีวิตอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับนายเอ เพราะเขาไม่มีหนี้สินใดๆ ที่เป็นภาระไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถยนต์ ไม่มีลูกและภรรยาที่ต้องเลี้ยงดู แถมยังไม่ต้องดูแลพ่อแม่ด้วย เนื่องจากทั้งสองท่านเป็นข้าราชการ มีบำเหน็จบำนาญที่จะดูแลตัวเองได้ยามเกษียณ

คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าหากการเสียชีวิตของบุคคลหนึ่ง มีความรุนแรงของผลกระทบอยู่ในระดับ “ปานกลาง” – “สูง” เนื่องจากมีภาระที่ทิ้งไว้ให้กับครอบครัว อาทิ หนี้สิน หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตหละ ควรบริหารความเสี่ยงอย่างไร?

หากการจากไปบุคคลใดส่งผลกระทบต่อครอบครัว และบุคคลที่อยู่ข้างหลังในระดับปานกลาง-สูง อย่างนี้สมควรที่จะต้อง “ทำประกันชีวิต” ไว้ และจะต้องมั่นใจว่า วงเงินเอาประกันนั้นสามารถครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้อย่างเพียงพอ

ยกตัวอย่างเช่น นายบี เป็นหัวหน้าครอบครัว มีภรรยาและลูก 1 คน ทั้งคุณบี และภรรยามีอาชีพเป็นพนักงานประจำทั้งคู่ รายได้ของครอบครัวมาจากคุณบี 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือมาจากภรรยา มีบ้านหนึ่งหลังจดจำนองธนาคารอยู่ 2 ล้านบาท ไม่มีหนี้สินอย่างอื่น ส่วนลูกกำลังศึกษาอยู่ระดับประถมศึกษา

ในกรณีนี้ ถือว่าคุณบี มีระดับความรุนแรงของผลกระทบหากเสียชีวิต อยู่ในระดับ “สูง” เพราะหากคุณบีไม่อยู่ รายได้ของครอบครัวจะหายไปถึงเกินครึ่ง และอาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องกับครอบครัวได้ โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายสำคัญก็คือ บ้าน ที่จดจำนองอยู่กับธนาคาร

จากตัวอย่างของคุณบี วงเงินเอาประกันของเขาไม่ควรต่ำกว่า วงเงินจดจำนองบ้าน + เงินเผื่อสำหรับภรรยาและการศึกษาของลูก อย่างนี้วงเงินเอาประกันที่ดีก็ควรอยู่ในระดับ 2 ล้านบาทขึ้นไป (ถ้ามีกำลังถึงระดับ 3 ล้านขึ้นไปก็ถือเป็นเรื่องที่ดี) เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือ แนวคิดง่ายๆ สำหรับการตัดสินใจซื้อประกันชีวิต ซึ่งอันที่จริงแล้ว การประกัน เป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกของหลายวิธีเท่านั้น ไม่ใช่สูตรสำเร็จของการบริหารความเสี่ยง แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาสภาพคล่อง และผลกระทบต่อความมั่งคั่งของคุณได้ ส่วนรูปแบบของการประกันนั้น ผมขอยกไว้พูดคุยกันในครั้งหน้าครับ

กฎทองของการประกัน – “คุณไม่สามารถซื้อประกันในเวลาที่ต้องการใช้มันได้”


ขอขอบคุณ Davinci
จาก ชมรม Richdadthai.com